ตั้งครรภ์ควรตรวจอะไรบ้าง?
ช่วงเวลาสำคัญอย่างหนึ่งของคุณผู้หญิงภายหลังมีครอบครัว คือ การ “ตั้งครรภ์” เพื่อมีลูกน้อยไว้เป็นโซ่คล้องใจ ซึ่งในยามนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่ต่างไปจากการเจ็บป่วยทั่วไป เพราะจำเป็นต้องตรวจสุขภาพหลายอย่าง คุณหมอจะนัดตรวจดูแลสุขภาพร่างกายตามกำหนด เพื่อให้รู้ถึงพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของทั้งแม่และลูก หากมีปัญหาเกิดขึ้นคุณหมอจะได้เร่งแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที เช่น ภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” หรือ “ท้องนอกมดลูก” และอื่น ๆ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างมีคุณภาพ แม่ท้องคลอดลูกได้อย่างปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และลูก
ตั้งครรภ์ควรตรวจอะไรบ้าง?
แม่ท้องควรต้องตรวจอะไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจง่าย มาดูการตรวจตามระยะเวลาของการตั้งครรภ์ดังนี้
ไตรมาสที่ 1 (เริ่มตั้งครรภ์-สัปดาห์ที่ 14)
- สิ่งแรกที่คุณแม่ต้องทำเมื่อรู้ว่าท้อง คือ การไป “ฝากท้อง” กับคุณหมอ ซึ่งจะมีการตรวจปัสสาวะและเลือด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ โดยวัดระดับฮอร์โมน HCG ตัวบ่งชี้การตั้งครรภ์ที่หลั่งออกมาจากรกหลังจากปฏิสนธิ
- การตรวจเลือดสำหรับฝากท้องครั้งที่ 1 – เพื่อตรวจหาโรคเอดส์ กามโรค ไวรัสตับอักเสบบี – ซี หัดเยอรมัน และตรวจคัดกรองโรคเลือดธาลัสซีเมีย
ในที่นี้ขอลงลึกในเรื่อง “การตรวจคัดกรองโรคเลือดธาลัสซีเมีย” เพราะปัจจุบันมีการตรวจพบว่าคุณพ่อและคุณแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียเป็นจำนวนมาก นั่นคือลูกในท้องมีโอกาสเป็นโรคแค่ไหน?
ผู้ที่มียีนโรคธาลัสซีเมียจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นโรค ในกลุ่มนี้จะมีอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น ซีด ตาเหลือง อ่อนเพลีย ท้องป่อง ตับและม้ามโต กับกลุ่มที่เป็นพาหะ ผู้ที่เป็นพาหะของโรคธาลัสชีเมียไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง คือ ผู้ที่มียีนของโรคธาลัสชีเมียเพียงยีนเดียวอยู่คู่กับยีนปกติ ซึ่งยีนปกตินั้นเป็นลักษณะเด่นกว่า จึงทำให้ผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้ไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ทั้งสิ้น มีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดีตามปกติ มองจากภายนอกจะไม่รู้เลยว่าบุคคลนั้นมียีนแฝงหรือไม่ แต่กรรมพันธุ์ธาลัสซีเมียที่แฝงอยู่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกสู่หลานได้
ทั้งนี้หากคุณหมอประเมินแล้วว่าสามารถให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต่อไปได้ คุณพ่อคุณแม่กลุ่มนี้ควรศึกษาถึงประโยชน์ในการจัดเก็บสเต็มเซลล์ไว้เพื่อลูกน้อยในอนาคต หากมีความจำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์เพื่อรักษากลุ่มโรคธาลัสซีเมียและกลุ่มโรคเลือด เพราะการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุดในการรักษาโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงให้หายขาดได้เพียงวิธีเดียวในปัจจุบัน
- การตรวจเลือดแม่ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกและวัดระดับสารเคมีที่จะทำให้ทารกเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรม
- ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก เพราะการเป็นมะเร็งปากมดลูกขณะตั้งครรภ์จะเป็นอุปสรรคในการรักษาผู้เป็นแม่ เพราะไม่สามารถรักษาโดยวิธีเคมีบำบัดและรังสีที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้
- อัลตราซาวด์ หรือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อกำหนดอายุครรภ์ จำนวนทารก และเพื่อวินิจฉัยภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก
- อัลตราซาวด์คัดกรองความผิดปกติของทารกเบื้องต้น โดยวัดความหนาของสันคอทารก กระดูกสันจมูกของทารกเพื่อคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม หากพบมีโอกาสเสี่ยงสูง จะต้องตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม
ไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 15-28)
- การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคเบาหวานในรายที่เสี่ยง เช่น แม่อายุมากกว่า 35 ปี มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน มีระดับน้ำตาลในปัสสาวะและเลือดสูง ซึ่งการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ เช่น ทารกตัวโตน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม (macrosomia) หรือมีความพิการแต่กำเนิด
- ในช่วงนี้คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจ “โครโมโซมทารกในครรภ์” โดยการเจาะน้ำคร่ำ หรือตรวจ “NIPT” ซึ่งในปัจจุบันแม่ตั้งครรภ์นิยมตรวจ NIPT มากกว่า เพราะสามารถตรวจได้จากเลือดแทน ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา สามารถหาความเสี่ยงการเกิดกลุ่มอาการดาวน์หรือความผิดปกติของโครโมโซมอื่นที่สำคัญ รวมถึงโครโมโซมเพศของทารกในครรภ์ได้
- อัลตราซาวด์ เพื่อกำหนดเพศ และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ต่อเนื่อง ตรวจโครงสร้างตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงเท้าดูความผิดปกติ เช่น ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ นิ้วมือนิ้วเท้าครบหรือไม่ หัวใจผิดปกติหรือไม่
- อัลตราซาวด์วัดความยาวปากมดลูกเพื่อทำนายการคลอดก่อนกำหนดและตรวจตำแหน่งรกเพื่อป้องกันภาวะรกเกาะต่ำ
ใครที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม หรือการตรวจ NIPT
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ที่ครอบครัวมีประวัติความผิดปกติของโครโมโซม
- หญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ
- หญิงตั้งครรภ์ที่ทำอัลตราซาวด์แล้วพบว่าทารกมีโอกาสที่จะมีโครโมโซมผิดปกติ
ไตรมาสที่ 3 (สัปดาห์ที่ 29-42)
- ตรวจเลือดครั้งที่ 2 เพื่อดูโรคเอดส์ กามโรค ไวรัสตับอักเสบบีและความเข้มข้นของเลือด
- ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรีย (Streptococcus agalactiae) ในช่องคลอด และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเชื้อดังกล่าวนี้อาจก่อให้เกิดมดลูกอักเสบ หรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ และเสี่ยงติดเชื้อไปสู่ทารกแรกคลอด กลายเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดได้
- อัลตราซาวด์ ตรวจสอบตำแหน่งของรก ท่าของเด็ก และการเคลื่อนไหว จะช่วยประเมินวิธีคลอดได้
- ตรวจโดยใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก ว่าเต้นได้ยินชัด เบา หรือแรง จะช่วยบอกถึงสุขภาพและท่าของลูกน้อยได้
การตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม
- นอกจากการตรวจหาโรคต่าง ๆ ดังข้างต้นแล้ว แม่ท้องสามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจความเสี่ยงของโรคสมองอักเสบจากการติดเชื้อท็อกโซพลาสมา (เชื้อปรสิต Toxoplasma gondii) กรณีที่บ้านเลี้ยงแมว โดยอาจติดเชื้อที่ปนเปื้อนจากอุจจาระแมวและเนื้อที่ปรุงไม่สุก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทำให้แท้งได้
การตรวจป้องกันภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” ซึ่งแม่ท้องมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษได้ 4 ใน 100 คน
“ครรภ์เป็นพิษ” เรื่องควรรู้ของคุณแม่ตั้งครรภ์
ทราบหรือไม่…
- มีสตรีเสียชีวิตจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ถึง 500,000 รายต่อปี
- 10% ของสตรีตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูง
- 2-8% ของสตรีตั้งครรภ์มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- 10-15% ของสตรีตั้งครรภ์ทั่วโลกที่เสียชีวิตเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ (76,000 รายต่อปี) และมีเด็กทารกเสียชีวิตจากสาเหตุครรภ์เป็นพิษถึง 500,000 รายต่อปี
การตรวจคัดกรอง “ครรภ์เป็นพิษ” กับคำถามบ่อยจากแม่ตั้งครรภ์
- “ครรภ์เป็นพิษ” คืออาการความผิดปกติอย่างไรของหญิงตั้งครรภ์
- ปัจจัยเสี่ยง ภาวะครรภ์เป็นพิษ มีสาเหตุใดบ้าง และคุณแม่ท่านใดที่มีความเสี่ยงสูง
- เมื่อตรวจพบความเสี่ยงต้องปฎิบัติตัวอย่างไร มีวิธีป้องกันและการรักษาอย่างไร
- อาการ “ครรภ์เป็นพิษ” หากเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา สามารถมั่นใจได้อย่างไรว่าคุณแม่จะมีความปลอดภัยในการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของแม่ท้องและลูกน้อย และอาจมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ แม้ว่าทุกวันนี้จะยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถพยากรณ์โรคและดูแลรักษาได้ตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะนี้ ส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดต่อทั้งแม่ท้องและลูกน้อยได้
ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจพบในสตรีตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี โดยอาจมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ตั้งครรภ์ในขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตั้งครรภ์แฝด เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษหรือโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัว มีการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีภาวะเลือดแข็งตัวง่าย และมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไต เบาหวาน โรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE) ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ โดยทั่วไปภาวะครรภ์เป็นพิษมักเกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ส่วนใหญ่จะพบภาวะนี้หลังอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ โดยอาการที่แสดงถึงภาวะครรภ์เป็นพิษ ได้แก่ การมีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะครรภ์เป็นพิษ จึงอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทั้งแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อยเสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ ชัก การทำงานของไตผิดปกติหรือไตวาย ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด มีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะเลือดออกในสมอง น้ำท่วมปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดกับลูกน้อย ได้แก่ เจริญเติบโตช้าในครรภ์ น้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด และเสียชีวิตในครรภ์
ในปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมถึงใช้ประกอบการวินิจฉัยครรภ์เป็นพิษในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง โดยใช้การวัดการไหลเวียนของเส้นเลือดที่เลี้ยงมดลูก (uterine artery) ซึ่งทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ร่วมกับการตรวจสารบ่งชี้ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งได้แก่ ระดับโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือด และโปรตีนที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือด โดยถ้าระดับของโปรตีน 2 ตัวนี้ไม่สมดุลกัน คือ ระดับของโปรตีนส่งเสริมการสร้างหลอดเลือดต่ำลง ในขณะที่ระดับของโปรตีนยับยั้งการสร้างหลอดเลือดสูงขึ้น นั่นอาจแสดงให้แพทย์ทราบได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษขึ้น ซึ่งแพทย์จะได้ติดตามอาการและวางแผนการดูแลรักษาภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ศึกษาข้อมูลการตรวจหาความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษได้ที่นี่!
ดังนั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่เข้าข่ายจะเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ควรรีบปรึกษาแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อแพทย์จะได้ดูแลและติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด
โดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า การตรวจสุขภาพคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์มีความสำคัญอย่างมากเพื่อพบปัญหาได้ก่อน และนำไปสู่การแก้ปัญหา เพื่อยุติการตั้งครรภ์ หรือการรักษา ตลอดจนการเตรียมรับมือกับปัญหาสุขภาพของลูกที่จะออกมาลืมตาดูโลกในอนาคต เช่น การเก็บสเต็มเซลล์จากเลือดสายสะดือไว้ เพื่อนำไปใช้ปลูกถ่ายแทนไขกระดูกเพื่อรักษาโรคทางโลหิตวิทยา เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมได้
ยังมีโรคอื่น ๆ อีกมากมายที่มีการศึกษาทดลองรักษาได้ผล อาทิ โรคที่เกิดจากภาวะเสื่อม โรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์คินสัน โรคไขข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ภาวะบาดเจ็บไขสันหลัง และโรคเบาหวาน ดังนั้นการเก็บสเต็มเซลล์ไว้ก่อนตอนคลอดจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพื่อรอวิทยาการที่จะก้าวหน้าตามมาในอนาคต… ศึกษาข้อมูลสเต็มเซลล์ได้ต่อที่นี่
ขอบคุณข้อมูลจาก อมรินทร์ เบบี้&คิดส์, The Asian Parent, Hi Family club, เว็บไซต์รพ.กรุงเทพ, เว็บไซต์ รพ.เพชรเวช, เว็บไซต์ Thai Helath, เว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, เว็บไซต์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (ศูนย์สูตินรีเวช), เว็บไซต์รพ.วิชัยยุทธ
“ไครโอวิวา ธนาคารจัดเก็บสเต็มเซลล์
ผู้นำนวัตกรรมมาตรฐานระดับสากล
อยู่เคียงข้างคุณภาพชีวิตของทุกคนในครอบครัว”
ติดต่อผู้เชี่ยวชาญและรับสิทธิพิเศษจากไครโอวิวา